ทุ่ม 23,000 ล้าน แจกเงิน ผู้ปกครองนักเรียน คนละ 2,000 บาท
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ครม.เห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือ บรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือน และประชาชน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอุดมศึกษา ภาครัฐและเอกชน ดังนี้
1.มาตรการช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ) วงเงิน 23,000 ล้านบาท สำหรับนักเรียนในระบบการศึกษาไทย ภาคเรียนที่ 1 ปี การศึกษา 2564 โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ผู้ปกครอง 2,000 บาทต่อนักเรียน 1 คน จัดสรรค่าใช้จ่ายให้แก่สถานศึกษา เพื่อช่วยจัดการเรียนรู้ ลดหรือตรึงค่าใช้จ่ายในโรงเรียนเอกชนให้เท่ากับปีการศึกษา 2563
2.มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ของนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวตกรรม (อว.) วงเงิน 10,000 ล้านบาท
กลุ่มเป้าหมาย คือ นิสิตนักศึกษาชาวไทย ระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน ระยะเวลา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 โดยสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จะได้รับส่วนลดเป็นลักษณะร่วมจ่ายระหว่างรัฐและสถาบันอุดมศึกษาในอัตรา 6:4 โดยลดค่าเล่าเรียนค่าธรรมเนียมการศึกษาส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท ร้อยละ 50 ส่วน 50,001- 100,000 บาท ร้อยละ 30 และเกิน 100,000 บาท ลดร้อยละ 10
โดยส่วนลดสูงสุด รวมกันไม่เกินร้อยละ 50 สำหรับสถาบันอุดมศึกษาของเอกชน ค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมการศึกษา รัฐสนับสนุนในอัตรา 5,000 บาทต่อคน ทั้งนี้กระทรวงการอุดมศึกษาฯขอให้ครม.พิจารณา ขยายเวลาผ่อนชำระ จัดหาอุปกรณ์ โปรแกรมสำหรับยืมเรียนออนไลน์ รวมทั้งลดค่าหอพัก เพิ่มเติมต่อไป
นายอนุชา กล่าวว่า กระทรวงศึกษาฯและกระทรวงการอุดมศึกษาฯจะเร่งจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับสนับสนุนแหล่งเงิน ตามขั้นตอนของ พ.ร.ก. กู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 และจะกำหนดกลไกการตรวจสอบยืนยันตัวตนของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ และการจ่ายเงินให้ความช่วยเหลือผ่านระบบบัญชีธนาคาร พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจถึงหลักการและแนวทางการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนและประชาชนต่อไป