ชาวบ้านตื่นตา ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ
ในโลกสังคมออนไลน์ขณะนี้ มีการแชร์ส่งต่อภาพชวนตื่นตา ซึ่งถูกระบุว่าเผยแพร่มาจากผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Nasruddin Jehtnarakun ได้บันทึกภาพหาชมยากบนท้องฟ้าเมืองนราธิวาส เกิดปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ ที่เรียกว่า "หมวกเมฆสีรุ้ง" ลักษณะคล้ายจานบินขนาดใหญ่ สวมอยู่บนก้อนเมฆ กลางท้องฟ้าเมืองนราธิวาส เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 20 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ปรากฏภาพความสวยงาม ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับชาวบ้านในระแวกดังกล่าวเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เคยให้ความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เห็น ว่าเป็นปรากฏการณ์ทางอุตุนิยมวิทยาที่เกิดขึ้นได้ แม้จะไม่บ่อยนัก เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "Iridescent Pileus Cloud" มาจากภาษาละติน แปลว่า "หมวก" เมฆหมวกเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นเมื่อมีอากาศยกตัวขึ้นในแนวดิ่ง เช่น บนยอดเขา หรืออย่างในกรณีนี้ก็เกิดขึ้นจากเมฆ Cumulonimbus ลอยตัวขึ้น เมื่อมีกระแสอากาศลอยตัวขึ้นในแนวดิ่ง ชั้นอากาศที่มีความชื้นเบื้องบนจึงถูกยกตัวขึ้น และควบแน่นเป็นหยดน้ำ เกิดขึ้นเป็นเมฆที่ดูเหมือนจะ "สวม" อยู่บนเมฆอีกทีหนึ่ง
เราสามารถยืนยันได้ว่าเมฆหมวกเหล่านี้อยู่สูงกว่าเมฆเบื้องล่างจากการที่เงาของเมฆเบื้องล่างทอดขึ้นไปบนเมฆหมวกเหล่านี้ ส่วนปรากฏการณ์ที่เกิดเป็นสีรุ้งนั้น เรียกว่า Iridescent Cloud หรือ Cloud Iridescence ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางแสงที่เกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศ คล้ายกับรุ้งกินน้ำ หรือดวงอาทิตย์ทรงกลด แต่ในขณะที่รุ้งกินน้ำนั้นมีรูปแบบสีที่ตายตัวชัดเจน และทำมุมคงที่กับดวงอาทิตย์ เมฆสีรุ้งนี้นั้นซับซ้อนกว่ามากเกิดขึ้นจากการคุณสมบัติแทรกสอดของแสง โดยจะเกิดขึ้นได้เมื่อหยดน้ำหรือผลึกน้ำแข็งมีขนาดที่เล็กมากๆ มีขนาดที่ค่อนข้างใกล้เคียงกันสม่ำเสมอ และอยู่เป็นแนวบางๆ ไม่หนาจนเกินไป